สมเด็จพระปิยมหาราช ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย

VC Library
23 ต.ค. 2563 385 1 นาที

สมเด็จพระปิยมหาราช
ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย




          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 ได้รับพระราชทานพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร” ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ
          เมื่อทรงเจริญพระชนมายุควรแก่การศึกษา ได้ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ อาทิ ทรงศึกษาอักขรสมัยกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ศึกษาภาษามคธกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ศึกษาการยิงปืนไฟกับพระยาอภัยศรเพลิง (ศรี) ศึกษาภาษาอังกฤษกับนางลิโอโนเวน ชาวอังกฤษ นายจันดะเล หมอสอนศาสนา ชาวอเมริกัน และนายแปตเตอสัน ชาวอังกฤษ ส่วนวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณี และโบราณคดีทรงศึกษาและรับพระราชทานพระบรมราโชวาทจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ






          ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อพระชนมายุได้เพียง 15 พรรษา จึงได้ทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค หรือต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
          ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์สมบัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้





          ด้านการปกครอง ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในปี พ.ศ. 2417 ทรงประกาศตั้งกระทรวง 12 กระทรวง ในปี พ.ศ. 2435 ทรงยกเลิกการจัดเมืองเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวา เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลคือรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีการตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ทีละมณฑลภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาลที่ส่งไปจากส่วนกลาง โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกระบบไพร่ ระบบทาส เพื่อปลดปล่อยประชาชนพลเมืองให้พ้นจากพันธะอันรัดตัวต่าง ๆ ทำให้ประชาชนทั้งชาติมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

          ด้านการศึกษา ด้วยทรงตระหนักดีว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคนและประเทศ จึงทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรทุกระดับ ได้พระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบให้เป็นโรงเรียน และมีการตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมศึกษาธิการซึ่งต่อมาเข้าสังกัดกระทรวงธรรมการเพื่อบังคับบัญชาเกี่ยวกับการศึกษาให้เป็นระเบียบ นอกจากนั้น ยังส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาในยุโรปด้วยทรงมีพระราชดำริว่า ผู้จะปกครองบ้านเมืองต้องรู้จักโลกกว้างขวางจึงจะแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์ ทั้งยังเป็นสื่อเจริญพระราชไมตรีได้เป็นอย่างดี สำหรับนักเรียนทั่วไป โปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง “คิงสกอลาชิป” ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 เพื่อส่งนักเรียนที่เรียนดีไปศึกษายังต่างประเทศหลายรุ่น





          ด้านเศรษฐกิจ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นใน พ.ศ. 2416 และยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงการคลังเมื่อ พ.ศ. 2435 เพื่อทำหน้าที่เก็บภาษีอากรของแผ่นดินมารวมไว้แห่งเดียว และเพื่อให้การรับจ่ายเงินของแผ่นดินเป็นไปอย่างรัดกุม โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2439 เป็นการกำหนดรายจ่ายมิให้เกินกำลังของเงินรายได้ เพื่อรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของฐานะการคลัง ในการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้แยกการเงินส่วนแผ่นดินและส่วนพระองค์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด นับเป็นพระมหากษัตริย์ในระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชพระองค์เดียวในโลกที่ออกกฎหมายจำกัดอำนาจการใช้เงินของพระองค์เอง และเนื่องจากการค้าขายในพระราชอาณาจักรเริ่มเจริญขึ้น จึงได้ทรงจัดระบบเงินตราใหม่ โดยยกเลิกระบบเงินพดด้วงและหน่วยเงินแบบเดิมมาใช้หน่วยเงินเป็นบาท สลึง สตางค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้แทน ธนบัตรแบบแรกอย่างเป็นทางการของไทยได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้ง “บุคคลัภย์” (BookClub) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของชาวสยามขึ้นเป็นธนาคารในนาม “บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” เมื่อ พ.ศ. 2449 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ นับเป็นธนาคารแห่งแรกที่ตั้งขึ้นด้วยเงินทุนของคนไทย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” และยังโปรดเกล้า ฯ ให้มีการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาประเทศให้ทันสมัย





          ด้านการคมนาคม การสื่อสาร และการสาธารณูปโภค ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยวดยานพาหนะสมัยใหม่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนใหม่หลายสาย สายที่สำคัญยิ่ง คือ ถนนราชดำเนิน ซึ่งทอดยาวตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนถึงพระบรมมหาราชวัง และยังมีถนนสายอื่น ๆ เช่น ถนนพาหุรัด ถนนเยาวราช เป็นต้น ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสายต่าง ๆ ขึ้นอีก เช่น คลองเปรมประชากร คลองประเวศบุรีรมย์ และนับจาก พ.ศ.2437 เป็นต้นมา ทรงบริจาคเงินสร้างสะพานใหม่ในการเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี โดยชื่อของสะพานทั้งหมดเหล่านี้จะขึ้นต้นด้วยคำว่า “เฉลิม” นอกจากนั้น ยังโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทรถรางไทยจัดการเดินรถรางขึ้นในพระนครเมื่อ พ.ศ. 2430 ส่วนการคมนาคมกับต่างจังหวัด โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมาเป็นสายแรก เมื่อ พ.ศ. 2433 หลังจากนั้นจึงมีการสร้างทางรถไฟไปยังภาคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในด้านการสื่อสาร ได้โปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งเครื่องโทรเลข โทรศัพท์ ตามด้วยการรับส่งจดหมายอย่างเป็นระบบ และสามารถตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ในพ.ศ.2426 นอกจากการนั้น สาธารณูปโภคพื้นฐานอันได้แก่ ไฟฟ้า และน้ำประปา ก็เกิดขึ้นรัชสมัยของพระองค์ท่านด้วยเช่นเดียวกัน





          ด้านการสาธารณสุข โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงอันเป็นต้นกำเนิดของสภากาชาดไทยในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.2436 และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ซึ่ง ต่อมาได้พระราชทานนามใหม่ว่า “โรงพยาบาลศิริราช” สำหรับรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นทางการ นับเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของเมืองไทย

          ด้านการต่างประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จประพาสนอกพระราชอาณาจักร และทรงเป็นพระมหากษัตริย์จากบูรพาทิศพระองค์แรกที่เสด็จยุโรป โดยทรงเริ่มจากการเสด็จเยือนประเทศใกล้เคียงก่อน เช่น มลายู ชวา อินเดีย ฯลฯ จนเมื่อ พ.ศ. 2440 จึงเสด็จถึงยุโรปเป็นครั้งแรก ครั้งนั้น ได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปรวม 15 ประเทศ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้ไทยเป็นที่รู้จักในสังคมยุโรป เพื่อกระชับไมตรีอันจะยังประโยชน์แก่บ้านเมือง เพื่อทอดพระเนตรการบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง หลังจากนั้นได้เสด็จไปเยือนอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2450 การเสด็จไปยุโรปทั้งสองคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้ากับราชสำนักยุโรปได้อย่างสง่างามยิ่ง และก่อให้เกิดผลดีสมพระราชประสงค์ทั้งทางการทูตและการเมือง


          ด้านการศาล ทรงปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลให้ทันสมัย และขจัดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ไทยต้องเสียเปรียบแก่ชาวต่างชาติ โดยปรับปรุงระเบียบการศาลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มีกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบอย่างแท้จริง โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมาย ได้ทรงประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญาซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย และทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อผลิตนักกฎหมายให้พอแก่ความต้องการ ทำให้การพิจารณาคดีและการลงโทษแบบเก่าหมดไป


          ด้านการทหาร โปรดเกล้าฯ ให้จัดการทหารตามแบบยุโรป และวางกำหนดการเกณฑ์คนเข้าเป็นทหารแทนการใช้แรงงานบังคับไพร่ตามประเพณีเดิม โดยประกาศพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 เป็นครั้งแรก อีกทั้งทรงจัดตั้งโรงเรียนการทหาร คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กับจัดตั้งตำรวจภูธร ตำรวจนครบาลเพื่อให้ดูแลบ้านเมืองและปราบปรามโจรผู้ร้ายโดยทั่วถึง


          นอกจากนั้น ยังทรงปรับปรุงการแต่งกายและทรงผมตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาล โดยฝ่ายชาย เปลี่ยนจากผมทรงมหาดไทยเป็นตัดแบบฝรั่ง ข้าราชสำนักนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนแทนผ้าสมปักเก่า สวมเสื้อแพรตามสีกระทรวงแทนเสื้อกระบอกแบบเก่า ทรงออกแบบเสื้อราชปะแตน โปรดเกล้าฯ ให้ทหารนุ่งกางเกง พัฒนาเครื่องแบบให้รัดกุม ส่วนฝ่ายหญิง โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ บุนนาค) พระสนมเอกไว้ผมยาวแทนผมปีกแบบเก่า ทรงยกเลิกประเพณีหมอบคลาน เมื่อ พ.ศ. 2416 ในวันพระราชพิธีราชาภิเษก โดยให้ยืนเข้าเฝ้าและถวายคำนับแบบตะวันตก เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้นั่งก็มีเก้าอี้ให้นั่งเฝ้า แต่หากเป็นการเข้าเฝ้าแบบไทยในหมู่คนไทยด้วยกันเอง คงใช้ประเพณีคลานและหมอบเฝ้าดังเคยปฏิบัติกันมา


          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทรงได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช”

         

          ขอขอบคุณข้อมูลจาก จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย สำนักวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          ภาพจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย และจากอินเตอร์เน็ต.


เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว