เหตุการณ์รัฐประหารของ "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริยศึก" ยึดอำนาจจาก "สมเด็จพระเจ้าตากสิน" เพื่อปราดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ คือ จุดจบของศิลปะกรุงธนบุรี ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านั้น 15 ปี กรุงธนบุรีสถาปนาขึ้นภายใต้ภาวะสงคราม สมเด็จพระเจ้าตากสินรวบรวมบ้านเมืองและผู้คนสร้างเมืองขึ้นใหม่ในพื้นที่เมืองธนบุรี-บางกอกเดิม หลักฐานมากมายระบุว่าพื้นที่เมืองธนบุรี-บางกอก มีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่นมาก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินจะสถาปนากรุงธนบุรี ดังปรากฏวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีร่องรอยศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งวัดเหล่านี้ได้ถูกปฏิสังขรณ์อยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากวัดเป็นพื้นที่ใช้งานของผู้คนและชุมชน จึงต้องมีการบูรณะเพื่อใช้สอยอยู่เสมอ ดังนั้น ในช่วง 15 ปีของสมัยธนบุรี การซ่อม ปรับปรุง วัด จึงน่าเป็นงานช่างสมัยธนบุรีนั่นเอง
"รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร" ได้สำรวจศิลปกรรมตามวัดต่าง ๆ ในพื้นที่เมืองกรุงธนบุรี เพื่อเปรียบเทียบความเหมือน/ต่างของเจดีย์ วิหาร อุโบสถ สืบหาร่องรอยรูปแบบศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สืบสานความงามของศิลปะอยุธยา และส่งต่อให้แก่ศิลปะรัตนโกสินทร์